บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2568 มีรายได้รวม5,945.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 11.83% พร้อมทำกำไรสุทธิ 534.45 ล้านบาท โตทะยานกว่า 227% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
พร้อมเดินหน้าวางกลยุทธ์เชิงรุกตลอดไตรมาส 2 – 4 ผ่านการใช้ศักยภาพที่โดดเด่น ให้บริการครอบคลุมเพื่อคนไทย

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและการค้าออนไลน์ยังคงมีการขยายตัวทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซมีความคึกคัก กลุ่มค้าปลีกยังมีแนวโน้มเติบโต และทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ของไปรษณีย์ไทยมีรายได้รวมอยู่ที่ 5,945.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.83% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567
อีกทั้งยังสามารถทำกำไรสุทธิ 534.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 227.72% ซึ่งแสดงถึงสัญญาณบวกจากมาตรการบริหารต้นทุนและรายได้ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจที่เติบโตเด่นชัด ได้แก่ กลุ่มบริการไปรษณีย์ในประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้น 20.17% กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ มีรายได้เพิ่มขึ้น 13.15%
ขณะที่ปริมาณชิ้นงานไตรมาสที่ 1 ปี 2568 มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2567 ราว 7.48% ซึ่งบริการที่โดดเด่นยังคงเป็นบริการส่งด่วน EMS ที่เพิ่มขึ้น 5.94% จากมาตรฐานการให้บริการและมีโซลูชันที่สอดคล้องกับภาคธุรกิจ – ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม

“แม้สถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาสแรกจะส่งสัญญาณเชิงบวกกับไปรษณีย์ไทย แต่หนึ่งในความเสี่ยงด้านนโยบายระหว่างประเทศที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ การกลับมาของนโยบายทางการค้าในรูปแบบ นโยบายภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff Policy) ซึ่งอาจส่งผลต่อการขนส่งระหว่างประเทศทั่วโลก
ไปรษณีย์ไทยได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานนโยบายดังกล่าว และข้อยกเว้นภาษีนำเข้ากับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ (De Minimis Exemption) กับการไปรษณีย์สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ได้วางกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโต รองรับความเสี่ยงกลุ่มธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ และสร้างระบบนิเวศใน SME ไทย ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก SME และ e-Commerce ที่อาจได้รับผลกระทบด้านการส่งออก อาทิ การเสริมสร้างความร่วมมือกับสหภาพสากลไปรษณีย์ การไปรษณีย์สมาชิกอาเซียน ASEANPOST เพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น
โดยไปรษณีย์ไทยมีความโดดเด่นจากเส้นทางการขนส่งที่หลากหลาย ทั้งการขนส่งทางอากาศ ทางภาคพื้น ทางราง และทางเรือ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการขนส่งไปยังประเทศปลายทางต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น
โดยในภาพรวมการให้บริการส่งระหว่างประเทศของไปรษณีย์ไทย ครอบคลุม 205 ปลายทาง 193 ประเทศ สามารถเข้าถึงพื้นที่เฉพาะที่ผู้ให้บริการรายอื่น ๆ อาจยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น พื้นที่เกาะ ภูเขา และปลายทางห่างไกล เช่น อียิปต์ เอสโตเนีย อาร์เจนตินา และประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ เช่น หมู่เกาะมาร์แชลล์ กวม หมู่เกาะมารีนา เป็นต้น”

ดร.ดนันท์ กล่าวเสริมว่า แม้จะมีปัจจัยหลายด้านที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทย แต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 – 4 นี้ ยังคงมีการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจอย่างรอบด้าน โดยจะยังคงใช้จุดแข็งและทรัพยากรที่มีอยู่ ได้แก่
· บริการส่งด่วน EMS ที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับ B2C และ C2C โดยเฉพาะในตลาดอีคอมเมิร์ซที่ต้องการความรวดเร็วและเชื่อถือได้ ด้วยเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศที่สามารถให้บริการถึงปลายทางได้แม้ในพื้นที่ห่างไกล บวกกับมาตรฐานการส่งด่วนที่ผู้ใช้บริการไว้วางใจจากโซลูชันที่หลากหลายรองรับกิจกรรมทางธุรกิจได้ อย่างครอบคลุม ทำให้ในปี 2568 ปริมาณการส่งด้วยบริการ EMS ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
· บริการขนส่งที่หลากหลายครอบคลุมกิจกรรมทางธุรกิจได้อย่างครบวงจร ซึ่งมีความครอบคลุมทั้งการส่งสิ่งของขนาดใหญ่ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ ยาและเวชภัณฑ์ นมแม่ สินค้าทางการเกษตร ปลาสวยงาม สินค้าอัตลักษณ์ไทย สินค้าไลฟ์สไตล์ ฯลฯ รวมทั้งยังมีการให้บริการทั้งในรูปแบบ B2B , B2C , C2C ซึ่งความหลากหลายนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจเติบโต

· บริการทางการเงิน โดยไปรษณีย์ไทยมีจุดแข็งด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงได้ร่วมกับพันธมิตรด้านการเงินในการเป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ในการให้บริการด้านการเงินครบวงจร
· การให้บริการกลุ่มค้าปลีก เน้นดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Omni-Channel เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าในทุกชั้นตอน ตั้งแต่การค้นหาข้อมูล การเลือกซื้อสินค้า การชำระเงิน การจัดส่งสินค้าไปจนถึงการบริการหลังการขาย
โดยประเภทสินค้าที่มีให้บริการ คือ สินค้าไปรษณีย์ประเภทกล่องซองสำหรับผู้ประกอบการ และเกษตรกรสินค้าไปรษณีย์ประเภทสินค้าที่ระลึก และสินค้า House Brand ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เช่น กาแฟ น้ำดื่ม ข้าวสาร
นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม ThailandPostMart ตัวท็อปใกล้ไกลส่งให้ถึงมือที่คัดสรรสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นสินค้าดีจากทั่วประเทศมาจำหน่ายและส่งตรงถึงผู้บริโภคมากกว่า 20,000 รายการ

· การขยายบริการรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สนับสนุนภาคธุรกิจไทยที่มีศักยภาพก้าวสู่ตลาดโลก โดยการสร้างพันธมิตรในกลุ่มแพลตฟอร์ม eBay และ Amazon FBA ให้บริการคลังสินค้าสำหรับผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์ที่ต้องการขนส่งข้ามพรมแดน
อีกทั้งยังรวมกับการไปรษณีย์เวียดนาม และการไปรษณีย์อินโดนีเซีย พร้อมด้วย ที่ปรึกษาพิเศษ PayTech จากเวียดนาม และ Kota จากสิงคโปร์ จัดตั้ง “Regional ASEAN Post Alliance” หรือ RAPA เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งในภาคขนส่งและไปรษณีย์ของภูมิภาคอาเซียน
เชื่อมโยงเศรษฐกิจข้ามพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนาพันธมิตรอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การสร้างมาตรฐานโลจิสติกส์ร่วมกัน การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการทำธุรกรรม และการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียนไปสู่ระดับโลก

· กลุ่มธุรกิจ Post Next เดินหน้าสู่ Information Logistics ในไตรมาส 3/2568 บริการ “Prompt Post”จะมีการอัปเกรดฟีเจอร์เพิ่มขึ้น คือ Digital Postbox การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัยและเป็นส่วนบุคคล Passport Tracking
การติดตามสถานะพาสปอร์ต Prompt Pass เชื่อมข้อมูลภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการในการทำธุรกรรมต่างๆ ทางออนไลน์ด้วยความรวดเร็ว Prompt Vote ระบบการลงคะแนนเสียงออนไลน์รูปแบบใหม่ ที่ง่าย ปลอดภัย และมีระบบบันทึกผลการลงคะแนนที่น่าเชื่อถือ
· เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ ที่มีความพร้อมในการรองรับความต้องการที่หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันกำลังขยายการให้บริการเครือข่ายพี่ไปรฯ Postman Cloudที่สามารถสร้างประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านมา
เช่น ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ 2568 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลาจำนวน 4.17 ล้านครัวเรือน ตั้งแต่ 21 เม.ย. – 15 ก.ค. 2568

ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในยุคที่ทุกธุรกิจต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปรษณีย์ไทยถือเป็นผู้ให้บริการรายสำคัญในตลาดที่กำหนดให้ “ความยั่งยืน” เป็นกลยุทธ์หลักขององค์กรอย่างแท้จริงภายใต้วิสัยทัศน์ “ส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์”
โดยมีเป้าหมายใหญ่ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 และก้าวสู่ Net Zero Emissions ในปี 2593 โดยล่าสุด ยังได้เริ่มทยอยเปลี่ยนยานยนต์เป็นไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
โดยจะใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้านำจ่ายถึง 9,000 คันภายในปี 2572 และแทนที่รถยนต์นำจ่ายทั้งหมดกว่า 1,000 คัน ทั่วประเทศ ให้กลายเป็นระบบ EV 85% ภายในปี 2573 และครบทั้งหมด 100% ภายในปี 2583
พร้อมเริ่มติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (SOLAR PV ROOFTOP) ณ ที่ทำการไปรษณีย์จำนวน 10 แห่งในปี 2568 และมีแผนขยายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศรวม 120 แห่งภายในปี 2572 เพื่อใช้พลังงานหมุนเวียน ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการหนุนระบบ Circular Economy ผ่านโครงการ “Green Hub” โดยมีจุดเริ่มต้นจากแคมเปญ reBOX ซึ่งรณรงค์ให้ประชาชนและผู้ใช้บริการส่งคืนกล่องและซองพัสดุไม่ใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล
โดยสามารถรวบรวมวัสดุได้มากกว่า 600 ตัน ภายใน 4 ปี คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 3,500 ตันคาร์บอนเทียบเท่า และต่อยอดร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม และใช้พื้นที่ของที่ทำการไปรษณีย์รวมกว่า 50 จุดรับวัสดุรีไซเคิล ตั้งจุดรับรวบรวมวัสดุประเภทต่าง ๆ นำเข้าสู่กระบวนการจัดการ/ แปรรูปได้อย่างถูกต้องและมีประโยชน์

เช่น โครงการ e-Waste ร่วมกับ AIS รับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช้แล้ว, ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ รับบริจาคอะลูมิเนียมเพื่อจัดทำขาเทียมพระราชทาน,
โครงการ “วน” ที่รับพลาสติกยืด เช่น ซองพลาสติกไปรษณีย์ ถุงพลาสติกหูหิ้ว จาก บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด หรือ (TPBI) เพื่อเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจไปรษณีย์ เช่น พาเลทผลไม้,
โครงการ “GC YOUเทิร์น” ที่เปิดรับพลาสติกใส (PET) และพลาสติกขุ่น (HDPE) เช่น ขวดน้ำดื่ม แกลลอนนมจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจไปรษณีย์ และเสื้อผ้าอัพไซเคิลเพื่อประโยชน์แก่สังคมต่อไป
ติดตามข่าวสารไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ : www.thailandpost.co.th
เฟซบุ๊ก : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
X : @Thailand_Post
ไลน์ออฟฟิเชียล : @Thailand Post
ติ๊กต็อก : @thailandpostchannel