กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศความร่วมมือกับ Google ในการปรับปรุงการจราจรในกรุงเทพฯ ผ่าน Project Green Light ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของ Google ที่ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้สัญญาณไฟจราจรและลดปัญหาการจราจรติดขัดตามแยกที่มีการจราจรคับคั่งที่สุดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ
โดยโครงการนี้ใช้ AI และข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์การขับขี่ยานพาหนะจาก Google Maps ในการวิเคราะห์รูปแบบการจราจรและให้คำแนะนำเพื่อปรับจังหวะการให้สัญญาณไฟจราจรให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานพาหนะที่จอดติดบนท้องถนนโดยลดการหยุดรถที่ไม่จำเป็นและบรรเทาการจราจรแบบ stop-and-go ที่มีการเคลื่อนที่ช้าๆ สลับกับหยุดเป็นช่วงๆ
นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการจัดการการจราจรบนท้องถนนในกรุงเทพฯ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นับตั้งแต่ที่เริ่มนำร่อง Project Green Light ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กทม. ได้นำการแนะนำการให้สัญญาณไฟจราจรด้วย AI ไปใช้ตามทางแยกหลักๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งใน 18 เมืองจากทั่วโลกที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการจัดการจราจรในเมืองใหญ่อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งมั่นที่จะให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ของ ‘โอกาสและความหวัง’ ซึ่งยังคงเดินหน้าด้วยนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี จากพลังของเทคโนโลยีและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างเมืองที่มีประสิทธิภาพ น่าอยู่ และมีความหวังสำหรับทุกคน ปัจจุบัน กทม. ได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาแก้ปัญหาจราจรอย่างจริงจัง นอกจากนี้ เรายังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน AI เพื่อใช้ AI มีประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน”
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กทม.มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ Google ในการนำโครงการ Project Green Light มาใช้ โดยอาศัยข้อมูลแผนที่และเทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์รูปแบบการเดินทางของประชาชน เพื่อนำมาปรับรอบสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสมกับสภาพการจราจรจริงในแต่ละแยก ซึ่งจะช่วยลดปัญหารถติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันหลายแยกในกรุงเทพฯ ยังใช้ระบบสัญญาณไฟแบบ Fixed Time ที่ตั้งเวลาไว้ล่วงหน้า ซึ่งโครงการนี้จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ให้ว่าควรปรับลดหรือเพิ่มเวลาไฟเขียว–ไฟแดงให้ตอบสนองต่อปริมาณรถและเวลาที่ล่าช้าในช่วงเวลาต่างๆ อย่างไรเพื่อช่วยให้การจราจรคล่องตัวขึ้น เราภูมิใจที่ กทม. เป็นหนึ่งใน 18 เมืองทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการนี้”
ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา Project Green Light ได้ช่วยวิเคราะห์การจราจรบริเวณทางแยกที่มีสัญญาณไฟจราจรหลายร้อยแห่งทั่วกรุงเทพฯ โดยใช้ AI และข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์การขับขี่ยานพาหนะจาก Google Maps ระบบจะเสนอคำแนะนำเพื่อปรับรอบเวลาสัญญาณไฟจราจรและการเคลื่อนตัวของการจราจรบนท้องถนนให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
จากนั้นวิศวกรด้านการจราจรของกรุงเทพมหานครจะประเมินข้อเสนอแนะแต่ละข้อโดยพิจารณาในเรื่องของความปลอดภัย ความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์จริง และประสิทธิผลของข้อเสนอแนะนั้นๆ ก่อนนำไปปฏิบัติจริง เมื่อมีการนำข้อเสนอแนะนั้นไปปฏิบัติแล้ว Project Green Light จะวัดผลกระทบต่อรูปแบบการจราจรและส่งการวิเคราะห์นี้ให้กรุงเทพมหานครเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในอนาคตต่อไป
ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “Project Green Light ช่วยให้เราใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั่วโลกโดยช่วยให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ดีขึ้นและลดมลพิษบนท้องถนน
ผลลัพธ์เบื้องต้นจากการดำเนินการทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ Project Green Light ที่ช่วยลดการหยุดรถบนท้องถนนได้ถึง 30% และลดการปล่อยมลพิษลง 10% โดยมีการเดินทางด้วยรถยนต์ที่ใช้ระบบของเรากว่า 55 ล้านเที่ยวต่อเดือน
ความสำเร็จของ Project Green Light ในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร เรารู้สึกยินดีกับผลลัพธ์เบื้องต้นจากการนำร่องโครงการนี้ในกรุงเทพฯ และหวังว่าจะได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับทีมงานของกรุงเทพมหานครเพื่อขยายโครงการนี้ไปยังแยกต่างๆ มากขึ้น”
เกี่ยวกับ Project Green Light
Project Green Light เป็นโครงการริเริ่มของ Google Research (ทีมวิจัยของ Google) ที่ใช้ AI และข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์การขับขี่ยานพาหนะจาก Google Maps ซึ่งครอบคลุมเครือข่ายถนนทั่วโลก ในการจำลองรูปแบบการจราจรและสร้างคำแนะนำอัจฉริยะสำหรับวิศวกรด้านการจราจรในเมืองต่างๆ เพื่อช่วยให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
ผลลัพธ์เบื้องต้นจากการดำเนินการทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ Project Green Light ที่ช่วยลดการหยุดรถบนท้องถนนได้ถึง 30% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% การเพิ่มประสิทธิภาพสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางแยกและเคลื่อนตัวของการจราจรบริเวณจุดตัดต่างๆ ช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดและบรรเทาการจราจรแบบ stop-and-go ที่มีการเคลื่อนที่ช้าๆ สลับกับหยุดเป็นช่วงๆ ได้มากขึ้น
ปัจจุบัน มีการนำ Project Green Light ไปใช้ตามทางแยกต่างๆ ใน 18 เมือง ครอบคลุม 4 ทวีปทั่วโลก ตั้งแต่เมืองไฮฟา ประเทศอิสราเอล ไปจนถึงเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
โดยช่วยประหยัดเชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซเรือกระจกจากการเดินทางด้วยรถยนต์ในบริเวณทางแยกเหล่านี้ได้มากถึง 30 ล้านเที่ยวต่อเดือน Project Green Light สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ Google Research ในการใช้ AI เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนนับล้านในเมืองต่างๆ ทั่วโลก