อาลีเพย์ (Alipay) รถไฟความเร็วสูง ธุรกิจบริการแชร์จักรยาน และการค้าอีคอมเมิร์ซ ได้รับการขนานนามว่าเป็น 4 นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน หากไม่นับรถไฟความเร็วสูง นวัตกรรมที่พลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจจีนเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากขาดปัจจัยพื้นฐานสำคัญคือ โครงข่าย 4G ประสิทธิภาพสูง ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบไร้สายผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว
4G นับได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลจีน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อจีนมาก มีมูลค่ากว่าร้อยละ 30 ของ GDP[1] แม้ว่าในขณะนี้ความสนใจของหลายประเทศรวมทั้งจีนเอง คือเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและโครงข่าย 5G เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตอันใกล้ แต่ด้วยความสำคัญของ 4G ต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงทำให้การพัฒนา 4G ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม ยังคงเป็นยุทธศาสตร์ที่จีนให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างจริงจังมาโดยตลอดมา
เมื่อปี 2015 จีนได้ประกาศตั้งเป้าขยายเครือข่าย 4G ให้ครอบคลุมเมืองใหญ่ต่างๆ และเขตชนบททั่วประเทศ ภายในปี 2018 เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการค้าอีคอมเมิร์ซ โดยพุ่งเป้าการขยายฐานไปยังภาคเกษตรกรรมและพื้นที่ชนบท (Rural Ecommerce) ซึ่งถือได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ของอีคอมเมิร์ซจีน ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างมูลค่านับหมื่นล้านเหรียญในแต่ละปี นอกจากนี้ยังเป็นการที่จะส่งเสริมเทคโนโลยีในขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่ต้องอาศัย 4G ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things (IoTs) Machine-to-Machine (M2M) และ Cloud Technology เป็นต้น
เมื่อ 4G มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนขนาดนี้ ประกอบกับการที่จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1.42 พันล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งทำให้มีปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สูงมากมหาศาล การจัดสรรคลื่นความถี่และเลือกใช้เทคโนโลยีสำหรับเครือข่าย 4G ให้มีเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับจีนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอะไรคือทางออกของจีน? และทางออกนั้นจะสามารถเป็นคำตอบสำหรับไทยซึ่งมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือถือที่สูงไม่แพ้ชาติใดในโลกได้หรือไม่?
จากจีน 4 ปี กับ 4G TDD
จีนเริ่มมีการใช้งาน 4G เชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2013 ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีเครือข่ายผู้ลงทะเบียนใช้งาน 4G ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจำนวนการลงทะเบียนใช้งานเพิ่งจะแตะ 1 พันล้านคน ไปหมาดๆ เมื่อเดือนธันวาคม 2017 ที่ผ่านมานี้เอง คิดเป็นกว่าร้อยละ 40.2 ของการลงทะเบียนใช้งาน 4G ทั่วโลกที่มีประมาณ 2.5 พันล้านคน (ข้อมูลจาก www.mobileworldlive.com) นั่นหมายความว่าโครงข่ายโทรคมนาคมของจีนจะต้องมีศักยภาพสูงเพียงพอ ที่จะสามารถแลกเปลี่ยนรับส่งข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลได้ ซึ่งเทคโนโลยีโครงข่ายสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเอาชนะความท้าทายนี้คือ เทคโนโลยี 4G TDD นั่นเอง
สู่ไทย: ทำไมต้อง 4G TDD บนคลื่นความถี่ 2300 MHz
ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่รวบรวมโดย We Are Social (www.wearesocial.com) ของต้นปี 2018 พบว่าคนไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 93.61 ล้านเลขหมาย โดยใช้เวลาเฉลี่ยต่อวัน 4.56ชั่วโมง บนอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ นับเป็นประเทศหนึ่งในที่ท่องอินเทอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก
เมื่อเทียบอัตราผู้ใช้งานบนคลื่น 2300 MHz ของจีนที่มีมากกว่าไทยประมาณ 10 เท่ายังรองรับการใช้งานได้เป็นอย่างดี นี่คือบทพิสูจน์ที่ดีสำหรับความมั่นใจของไทยที่จะก้าวไปกับคลื่นใหม่บนเทคโนโลยีการสื่อสารชั้นนำ
วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือของคนไทยพบว่า มีปริมาณการรับส่งข้อมูลผ่านทางการแชทมากเป็นอันดันหนึ่ง รองลงมาคือวิดีโอ ซึ่งที่ผ่านมาไทยติดอันดับประเทศที่มีการใช้งาน YouTube โดยเฉพาะการรับชมมากที่สุดในโลกอีกด้วย
เพื่อรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และพฤติกรรมที่ในการรับข้อมูลปริมาณมาก ประเทศไทยจึงต้องการการจัดการเครือข่ายและเทคโนโลยี 4Gที่มีประสิทธิภาพสูง โดยล่าสุดทีโอทีและดีแทคได้ปลดล็อกคลื่นความถี่ 2300 MHz เพื่อนำมาใช้งานร่วมกันเป็นที่เรียบร้อย เพื่อพัฒนาสู่บริการ4G TDD ต่อไป ซึ่งคลื่นความถี่นี้มีขนาดกว้างมากถึง 60 MHz เหมาะกับการรองรับการปริมาณการใช้งานดาต้าที่มากของคนไทยในปัจจุบัน
คาดว่าการมาของคลื่นใหม่ 2300 MHz จะช่วยหนุนเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยได้เป็นอย่างดี และยกระดับประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สายของคนไทยได้ จากนี้ไป เทคโนโลยี 4G TDD จากดีแทค จะมายกระดับโครงข่ายดิจิทัล อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเร่งเปิดให้บริการทั่วประเทศ และจะเป็นอีกบทหนึ่งที่น่าจับตาการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ